ยัยตาเล็กกับเพื่อนเที่ยวกัมพูชา

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ลักษณะนามบางคำในภาษากฎหมายไทย


ลักษณนามบางคำในภาษากฎหมายไทย



           ผมได้อ่านบทความเรื่อง "ภาษากฎหมายไทย" ของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้ถ่ายสำเนาไปให้ข้าพเจ้า ๑ ชุด เป็นบทความที่ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เขียนไปเสนอในการอภิปรายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้าพเจ้าเห็นว่ามีประโยชน์มาก เพราะท่านผู้เขียนเป็นผู้ที่มีความสนใจในภาษาไทยมากเป็นพิเศษ ดูเหมือนจะมีอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สนใจในการพูดและการเขียนภาษาไทย ทั้งยังได้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับภาษาไทยที่มีคุณค่ามากไว้ให้เราได้อ่านและข้าพเจ้าได้รับความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ จากหนังสือและบทความของท่านมาก   วันนี้จะขอนำข้อความบางตอนในบทความนั้นเฉพาะที่เกี่ยวกับ   "ลักษณนาม" มาเสนอท่านผู้ฟัง ดังนี้

             "ลักษณนามคำหนึ่งซึ่งจะถือว่าเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ คือ เดิมลักษณนามที่เกี่ยวกับบุคคลคำหนึ่ง ใช้คำว่า "นาย" เช่น คณะกรรมการคณะนั้น ๆ มี ๙ นาย แต่สตรีมีสิทธิมากขึ้นกว่าเดิม (ส่วนหน้าที่ก็ดูจะมีน้อยลงไปด้วย) ตอนที่สตรีมีสิทธิมากขึ้น ก็ได้มาเป็นกรรมการในคณะต่าง ๆ ก็เกิดมีปัญหาตามมาว่าจะเรียกกรรมการ ๙ นายไม่ถูก ผู้หญิงจะเป็น "นาย" ได้อย่างไร ครั้นจะเรียกว่า ๕ นาย ๔ นาง ก็ดูกระไรอยู่ จึงต้องเปลี่ยนใช้คำรวมเป็น "คน" คือ กรรมการ ๙ คน ฝ่ายสตรีซึ่งเพิ่งได้สิทธิมาใหม่ ๆ ก็เจ้ายศเจ้าอย่างหน่อยตัดพ้อว่า แต่ก่อนร่อนชะไรเรียก "นาย" ได้ เดี๋ยวนี้เรียก "คน" เสียแล้ว ดูคล้าย ๆ ว่า ชายไม่ยกย่องหญิงเท่า ที่ควร ปัจจุบันนี้ฝ่ายชายซึ่งโดยปรกติก็ด้อยกว่าฝ่ายหญิงอยู่แล้วในเรื่องความสามารถ ความปราดเปรื่อง และความเด็ดเดี่ยว ก็จะต้องยอมรอมชอมเพื่อรักษาความสงบ ยกย่องเสียโด่งฟ้าเลยว่า เป็นกรรมการ ๙ "ท่าน" บัดนี้ ไม่ว่าชายหรือหญิงกลายเป็น "ท่าน" ไปหมดแล้ว."

             การใช้ลักษณนามว่า "ท่าน" แทนคำว่า "คน" นั้น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบมาเป็นอีกแนวหนึ่งว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการคณะหนึ่ง มีทั้งเจ้านายและเสนาบดีร่วมเป็นกรรมการในคณะเดียวกัน เวลาจะใช้ลักษณนามจะใช้อย่างไร เพราะตามปรกติถ้าเป็นเจ้านายก็ใช้ลักษณนามว่า "องค์" เป็นเสนาบดีก็ใช้ ลักษณนามว่า "คน" ถ้าสมมุติว่า ในคณะกรรมการชุดนั้นมีเจ้านาย ๒ องค์ เสนาบดี ๓ คน ผู้ที่มิได้มียศถาบรรดาศักดิ์อีก ๓ คน จะใช้ลักษณนามว่าอย่างไร จะบอกว่ามี "กรรมการมาประชุม ๒ องค์ กับ ๖ คน" กระนั้นหรือ เพื่อแก้ปัญหานี้ ท่านจึงใช้ลักษณนามกลาง ๆ ว่า "ท่าน" คือมี "กรรมการมาประชุม ๘ ท่าน" คำว่า "ท่าน" ซึ่งตามปรกติเป็นคำสรรพนาม เลยกลายเป็นคำนาม คือใช้เป็นลักษณนามไป ปัจจุบันนี้มีผู้นำคำว่า "ท่าน" ไปใช้เป็นลักษณนามให้เกร่อไปหมด แม้แต่นักเรียนและนักโทษก็พลอยไปรับยกย่องให้ใช้ลักษณนามว่า "ท่าน" ไปด้วย เช่น มีนักเรียน ๓๐ ท่าน มีนักโทษ ๒๕ ท่าน ฯลฯ อย่างนี้ก็ออกจะเกินพอดีไปมาก ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไป ก็ใช้ลักษณนามว่า "คน" เหมือนกันหมด ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่การที่จะใช้ ลักษณนามกับสตรีว่า "นาย" ก็ดูขัด ๆ หูอยู่ ถ้าจะใช้ลักษณนามว่า "นาง"  ก็คงไม่มีใครชอบ และยิ่งสตรีที่ยังมิได้แต่งงานหากใช้ลักษณนามว่า  "นาง"  เขาก็คงไม่ชอบอย่างแน่นอน   และอาจต่อว่าหาว่าไปดูถูกดูหมิ่นเขาก็ได้   แต่ถ้าใช้  ลักษณนามว่า "คน" เหมือนกันหมด ก็ไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน เพราะทั้งผู้หญิงผู้ชายต่างก็เป็นคนเหมือนกัน

          คำลักษณนามอีกคำหนึ่ง ที่ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าว ถึงก็คือลักษณนามที่ใช้กับ "ช้าง" ดังที่ท่านได้เขียนถึงไว้ดังนี้

              "อนึ่ง ภาษากฎหมายครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น ลักษณนามบางคำ ท่านทรงตราไว้เป็นกฎหมายว่า ช้างก็ดี ม้าก็ดี เป็นสัตว์ชั้นสูง จะเรียกช้างหนึ่งตัว ม้าหนึ่งตัวไม่ได้ ต้องเรียก "ช้างหนึ่งช้าง" "ม้าหนึ่งม้า" มิฉะนั้นจะมีความผิด แต่ภาษาวิวัฒนาการเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันลักษณนามเกี่ยวกับช้างและม้าเปลี่ยนไปแล้ว เราเรียก "ช้างหนึ่งเชือก" "ม้าหนึ่งตัว" แต่กระนั้นก็ดี ในวงการนักกฎหมายนั้น เคยมีการออกข้อสอบของสำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาอยู่ปีหนึ่งว่า "ช้างพังเชือกหนึ่ง ออกลูกหนึ่งตัว..." กรรมการสอบไล่ต้องไปถกเถียงกันอีกว่า แล้วเมื่อไร ลูกช้าง "ตัว" นั้น จะบรรลุนิติภาวะเป็น "เชือก" ขึ้นมา อย่างไรก็ดี โดยที่ร่างกฎหมายมาจนชิน ไม่มีผู้ใดทักท้วงได้ ท่านกรรมการผู้ออกข้อสอบข้อนั้นก็ไม่ยอมเปลี่ยนลักษณนามจาก "ตัว" เป็น "เชือก" ตามที่ มีผู้ถกเถียงกัน."

            ในเรื่องลักษณนามของช้างนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าช้างและม้าเป็นสัตว์ชั้นสูง จึงทรงให้ใช้ลักษณนามว่า "ช้าง" และ "ม้า" ส่วนสัตว์อื่น ๆ ให้ใช้ลักษณนามว่า "ตัว"

            ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย ของราชบัณฑิตยสถานก็ได้เคยนำเรื่องนี้มาพิจารณาและได้ลงความเห็นว่า "ช้าง" ควรจะมีลักษณนาม ๓ คำ คือ ช้างป่าหรือช้างเถื่อนที่ยังไม่มีใครไปจับมาใช้งานนั้นให้ใช้ลักษณนามว่า "ตัว" ส่วนช้างที่ถูกจับมาฝึกฝนจนใช้งาน เช่น งัดซุง ลากซุง ฯลฯ ได้แล้ว ให้ใช้ลักษณนามว่า "เชือก" เพราะตอนที่เขาจับมาเพื่อใช้งานนั้น เขาจะต้องเอาเชือกมาตกปลอกไว้ที่เท้าของมัน โดยเหตุนี้จึงใช้ลักษณนามว่า "เชือก" ส่วนช้างของหลวงก็ดี ม้าของหลวงก็ดี ถ้าได้ขึ้นระวางเป็นของหลวงแล้ว ให้ใช้คำว่า "ช้าง" เป็นลักษณนามของ "ช้าง" และใช้คำว่า "ม้า" เป็นลักษณนามของ "ม้า" ไม่ใช่ว่าออกลูกมาใหม่ ๆ ลูกช้างให้ใช้ลักษณนามว่า "ตัว" แต่เมื่อไรจึงจะใช้ลักษณนามว่า "เชือก" มิได้บอกไว้

               ถ้าถือตามที่ข้าพเจ้ากล่าวมา ลูกช้าง ถ้าเป็นลูกของช้างป่า ก็คงใช้ ลักษณนามว่า "ตัว" ถ้าเป็นลูกของช้างบ้าน ก็ให้ใช้ลักษณนามว่า "เชือก" และถ้าเป็นลูกช้างของช้างหลวงก็ใช้ลักษณนามว่า "ช้าง"

             เรื่องการใช้ลักษณนามว่าคำใดจะใช้ลักษณนามอย่างไรนั้น เวลานี้ "คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย" ได้พิจารณา ลักษณนามของคำนามต่าง ๆ ที่เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ไว้และได้พิจารณาจบไปวาระหนึ่งแล้ว ขณะนี้กำลังทบทวนเป็นวาระที่ ๒ ซึ่งก็เกือบจบแล้วเช่นกัน ต่อไปคงไม่นานนักก็คงจะมีหนังสือคู่มือการใช้ลักษณนามขึ้นในบรรณโลกอย่างแน่นอน.
จำนงค์   ทองประเสริฐ
๒๑ ตุลาคม  ๒๕๓๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น