ยัยตาเล็กกับเพื่อนเที่ยวกัมพูชา

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ธรรมชาติของภาษา



ธรรมชาติของภาษา


           ในสมัยก่อน มนุษย์ยังไม่รู้จักใช้ภาษาเหมือนในปัจจุบัน นักปราชญ์ทางภาษาสันนิษฐานว่า ภาษาเริ่มแรกของมนุษย์ คือการใช้อวัยวะสื่อสารให้เข้าใจกัน เช่น ปรบมือ พยักหน้า ยักคิ้ว แลบลิ้น เป็นต้น ซึ่งเราเรียกว่า ภาษาใบ้            ต่อมามนุษย์เริ่มที่จะส่งเสียงเพื่อการสื่อสารให้เข้าใจกัน การส่งเสียงนี้ถือว่าเป็นกำเนิดของภาษา ซึ่งมนุษย์จะเลียนแบบมาจากเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงเด็กทารก เป็นต้น
           จากเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์ได้นำมาประดิษฐ์เป็นตัวอักษรเพื่อใช้ในการสื่อสาร ตัวอักษรเริ่มแรกของไทยเริ่มขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งทรงประดิษฐ์อักษรไทยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ มีพยัญชนะ ๓๙ ตัว สระ ๒๐ ตัว และวรรณยุกต์ ๒ ตัวหลังจากนั้นตัวอักษรไทยได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมา ทั้งในเรื่องรูปลักษณะ การวางตัวอักษร และจำนวนของตัวอักษร จนกระทั่งตัวอักษรไทยในปัจจุบัน มีพยัญชนะ ๔๔ ตัว รูปสระ ๒๑ รูป แต่มี ๓๒ เสียง รูปวรรณยุกต์ ๔ รูป แต่มี ๕ เสียง
          ไม่แต่เพียงตัวอักษรไทยเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ความหมายของคำบางคำ และการนำอักษรไทยไปใช้ในการเรียบเรียงถ้อยคำ หรือสำนวนโวหารยังแตกต่างกันไปตามกาลเวลาอีกด้วย 
สำนวนสมัยพ่อขุนรามคำแหงไม่มีคำเชื่อมใช้ จะเขียนต่อเนื่องกันไป
      เช่น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช     “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง...”
           สำนวนสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นจดหมายราชทูตไทย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ของ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นสำนวนที่ใช้ถ้อยคำสละสลวย อธิบายยืดยาว และแสดงความเคารพนบนอบของผู้เขียน 
           “หนังสือออกพระวิสุทธสุนทรราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจาตรีทูต มาเถิงมงเซียร์ลาญีซึ่งได้บังคับกำปะนีทั้งปวง ด้วยท่านสำแดงความยินดีและนับถือ ได้ให้สำเร็จการทั้งปวงตามพระราชหฤทัยพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้เป็นเจ้าอัตโน...”
           ส่วนสำนวนในปัจจุบันจะสั้น กระชับ ใช้ภาษาเรียบง่าย เพื่อให้ทันต่อยุคเทคโนโลยีข่าวสารที่ต้องการความรวดเร็ว เช่น
“เรียน สมาชิก ชมรมสร้างสรรค์เกษตรไทย ชมรมสร้างสรรค์เกษตรไทยได้รับอนุมัติโครงการฝึกอบรมสมาชิกเรื่อง ขยายพันธุ์ไม้ให้ได้ประโยชน์ต่อสังคม โดยเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานในการดำเนินงาน...” 
           ตามความหมายของ ธรรมชาติของภาษา หมายความว่า สิ่งที่เกิดมีและเป็นอยู่ตามธรรมดาของถ้อยคำที่ใช้สื่อสารกัน
ดังนั้น ธรรมชาติของภาษาไทยตามที่กล่าวมาจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจึงถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว 
           สาเหตุที่ภาษาต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งเกิดจากสังคมที่เจริญก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งมนุษย์มีมันสมองที่จะคิดค้น สร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการนำไปใช้ และช่วยให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ภาษาจึงต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด 
แต่ไม่ว่าธรรมชาติของภาษาจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด กฎเกณฑ์หรือหลักภาษาจะยังคงอยู่ เพื่อเป็นแนวทางในการนำภาษาไทยไปใช้ให้ถูกต้อง และสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ เป็นต้นว่า การเรียบเรียงถ้อยคำ ลักษณะของประโยค ความหมายของคำ ฯลฯ
         การศึกษาเรื่องธรรมชาติของภาษา ทำให้มนุษย์มีความรู้ ความเข้าใจเนื้อแท้ของภาษาว่าภาษาจะดำรงอยู่ได้หรือเสื่อมสลายไป ก็เพราะน้ำมือของมนุษย์ เมื่อภาษายังคงอยู่ ภาษาจะไม่อยู่นิ่งกับที่ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่กฎเกณฑ์การใช้ภาษาจะยังคงอยู่ เพื่อเป็นแบบแผนในการนำภาษาไปใช้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น