สอนวรรณคดีไทยอย่างไรในยุคปฏิรูปการศึกษา
วรรณคดีไทย เป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินที่กวีทั้งหลายได้รังสรรค์ไว้ เพื่อให้เป็นเพชรล้ำค่าคู่แผ่นดินไทยมาในทุกยุคทุกสมัย วรรณคดีจะสะท้อนภาพของสังคมไทย ตามทัศนะของกวีที่เฝ้า มองและจับตาดูสภาพสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมแล้วนำเสนอภาพที่เห็นออกมาตามมุมมองของตนโดยใช้ตัวอักษรที่มีแง่งามในด้านวรรณศิลป์เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดสู่สายตาผู้อ่านจึงกล่าวได้ว่า วรรณคดีไทยคือสมบัติคู่บ้านคู่เมือง และมีส่วนสำคัญในการแสดงถึงความเป็นชาติมาช้านาน
ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาทุกระดับได้มีการบรรจุวรรณคดีไทยเอาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ทั้งนี้ก็เพราะในหมวด 4 ของแนวการศึกษาที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ, 2542 : 12 )
ได้กล่าวถึงการเน้นความสำคัญของความรู้ของผู้เรียนในข้อหนึ่งไว้ว่า ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และ ความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และ สังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย และ ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การศึกษาวรรณคดีไทยจึงน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ข้อที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้บรรลุจุดมุ่งหมายได้เป็นอย่างดี เพราะวรรณคดีก็คือ ภาพสะท้อนสังคม หรือ กระจกเงาบานใหญ่ของสภาพสังคมไทยนั่นเอง
การเรียนการสอนวรรณคดีไทยในโรงเรียน นอกจากจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียน มองเห็นคุณค่า และช่วยกันธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยแล้ว การสอนวรรณคดีไทยยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิด พฤติกรรม ค่านิยมของผู้คนในยุคสมัยนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ข้อคิดคำสอน ตลอดจนอุทาหรณ์สอนใจที่ได้จากวรรณคดี ล้วนเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่ายิ่งที่กวีทั้งหลายได้ฝากไว้ ในกลวิธีการประพันธ์ที่สามารถสร้างแง่งามให้เกิดขึ้นได้อย่างกลมกลืนแต่โดยทั่วไปการสอนวรรณคดีไทยในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป ยังคงเป็นเพียงการสอนอ่านเอาเรื่องหรือการสอนอ่านออกเสียง หรือบางครั้งที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เป็นการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยเอาเสียเลย ผู้สอนหลายคนมักจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจความหมาย และท่องจำคำศัพท์โบราณ หรือ ศัพท์ยาก ๆ เอาไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อจะได้เก็บไว้ตอบคำถามในการทำข้อสอบในตอนท้ายในขณะที่ผู้สอนบางคนก็จะมุ่งให้ผู้เรียนแปลความหมายในงานประพันธ์ร้อยกรองที่เป็นภาษาไทยอยู่แล้วและเป็นภาษาไทยที่มีแง่งามทางด้านวรรณศิลป์อย่างดีเยี่ยมให้ออกมาเป็นภาษาไทยร้อยแก้วที่ต้องสละสลวยยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมมากยิ่งขึ้นด้วยฝีมือของผู้เรียนที่ยังใช้ภาษาไทยได้ยังไม่ดีเท่าใดนัก นอกจากนี้ผู้สอนบางคนยังมุ่งเน้นย้ำให้ผู้เรียนพยายามจดจำถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่หากไม่ตั้งใจจริง ๆ ก็คงจะจำไม้ได้ แต่ครูผู้สอนก็จะเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญและสำคัญมากจนต้องจำให้ได้ขึ้นใจในที่สุด ประเด็นการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดความสุนทรีย์ในการเสพงานวรรณคดีไทยแต่อย่างไร ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ที่จะเสพวรรณคดีไทยอาจสำลัก และพาลเบื่อหน่ายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว และก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของการเรียนวิชาภาษาไทยในส่วนของวรรณคดีไทยไปได้ในที่สุด ยิ่งถ้าหันมาพิจารณาถึงข้อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยในวิชาภาษาไทย สำหรับส่วนของวรรณคดีไทยแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ลักษณะของข้อสอบจะเป็นการถามถึงแนวคิด ลักษณะภาพสะท้อนสภาพสังคม ค่านิยมที่ปรากฏในวรรณคดีไทยแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ก็เป็นถามถึงสุนทรียภาพของการใช้ภาษาไทยในด้านวรรณศิลป์ และนี่เอง คงจะเป็นการไขข้อปริศนาสำคัญที่ว่า ทำไมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศไทย จึงต้องไปสมัครเรียนกวดวิชา สำหรับวิชาภาษาไทยเพื่อการสอบเอนทรานซ์เป็นจำนวนมาก คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ เรียนอย่างหนึ่งแต่กลับสอบอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
จึงมาถึงคำถามสำคัญที่ว่า แล้วควรสอนวรรณคดีไทยกันอย่างไรดี ผู้เรียนจึงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดเอาไว้ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา ในเมื่อสาระสำคัญของการเรียนรู้ในปัจจุบันเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และ เกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง มุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ถูกต้องในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทยรู้จักรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ( สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ , 2542 : 5 ) ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สอนวิชาภาษาไทยมากกว่า 10 ปี จึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการสอนวรรณคดีไทยในโรงเรียนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นการขานรับกับนโยบายการศึกษาในยุคปฏิรูป ดังต่อไปนี้
1) ครูผู้สอนวรรณคดีไทย พึงระลึกถึงลักษณะสำคัญของวรรณณคดีเอาไว้อยู่เสมอ ว่า วรรณคดีคือภาพสะท้อนสภาพสังคมแห่งยุคสมัย ผู้ประพันธ์หรือกวีจะสะท้อนแนวคิด มุมมองที่ตนมีอยู่ผ่านลงไปในเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ได้เรียงร้อยขึ้นมา ดังนั้นในการสอนครูผู้สอนจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นและวิเคราะห์ภาพ ตลอดจนแนวคิดที่กวีสะท้อนออกมาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด การนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยมากล่าวถึงในการสอน จะเป็นเพียงฉากหลังที่จะช่วยส่งให้ภาพสะท้อนเด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก ในการกล่าวถึงมากมายแต่อย่างใด
2) ครูผู้สอนวรรณคดีไทย ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จัก ใช้ความคิด รู้จักใคร่ครวญใช้สติปัญญาของตนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น การอ่านงานวรรณคดีจะทำให้มองเห็นแง่มุมเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่หลากหลายต่างยุคต่างสมัยพฤติกรรมของตัวละครในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ จะทำให้มองเห็นแง่มุมเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่หลากหลายต่างยุคต่าสมัย พฤติกรรมของตัวละครที่เกิดขึ้นและโลดแล่นอยู่ในเนื้อเรื่องจะเป็นบทเรียนชีวิตจำลองที่ท้าทายให้ผู้เรียนได้รู้จักขบคิด และติดตาม ครูผู้สอนควรใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นข้อมูลตัวอย่างในการฝึกฝนการใช้สติปัญญาในการขบคิดแก้ปัญหาของผู้เรียน สถานการณ์ต่าง ๆ และพฤติกรรมของตัวละครที่เกิดขึ้น น่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบฝึกประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียน ได้ทดลองใช้มุมมองและแนวความคิดของตนในการไตร่ตรอง ใคร่ครวญเพื่อเพิ่มพูนความเฉียบคมของสติปัญญาให้เพิ่มมากขึ้น
3) ครูผู้สอนวรรณคดีไทยควรจะเน้นให้ผู้เรียนมองเห็นความงดงามและศิลปะของการใช้ภาษาไทยในการรังสรรค์ และ รจนาผลงานของกวี ผู้เรียนควรจะได้เสพถึงสุนทรียะ แห่งความซาบซึ้ง ในด้านรสคำ และ รสความ ความเสนาะของเสียงจากการเลือกสรรถ้อยอักษรของกวีที่บรรจงนำมาเรียงร้อยอย่างตั้งใจเพื่อก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่าน ครูผู้สอนควรใช้ความรู้ทางหลักไวยกรณ์ไทย ในด้านสัทศาสตร์ มาช่วยในการอธิบายถึงการเลือกสรรถ้อยคำและเสียงเสนาะของวรรณคดีชิ้นนั้น ๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนมองเห็นความมหัศจรรย์ของกวี ความอลังการของการเลือกสรรภาษามาร้อยเรียงอย่างมีศิลปะจนเกิดความงาม ตลอดจนอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยของเราให้ได้
4) ครูผู้สอนวรรณคดีไทยควรใช้เนื้อหา เหตุการณ์ของวรรณคดีที่กวีได้รังสรรค์รจนาเอาไว้มาเป็นแรงจูงใจสำคัญในการที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่าน และ เป็นผู้ใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องกล่าวคือ ครูผู้สอนจะต้องพยายามใช้งานวรรณคดีที่ผู้เรียนกำลังอ่านอยู่ในชั้นเรียนนั้นเป็นตัวกระตุ้นและยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความกระหายใฝ่รู้ อยากจะติดตามอ่านเนื้อหาสืบเนื่องจากเรื่องที่กำลังอ่านอยู่เดิม หรือ เห็นความสำคัญของการค้นหาความรู้ด้านอื่น ๆ มาประกอบ หรือ ขยายความให้งานวรรณคดีที่ตนกำลังอ่านอยู่เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เรียนอยากหาโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในชั้นเรียนหรือ คนอื่น ๆ ที่เคยได้มีโอกาสอ่านงานประพันธ์ชิ้นเดียวกันมาแล้ว เพื่อเป็นการขยายโลกทัศน์ของตนให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น
จากแนวทาง 4 ประการที่ผู้เขียนได้เสนอแนะเอาไว้ข้างต้นนี้ คงจะช่วยทำให้ครูผู้สอนมองเห็นภาพรวมของการสอนวรรณคดีไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ มีนิสัยใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง และคงไม่ใช่ภาระหนักอึ้งเกินไปสำหรับครูผู้สอนภาษาไทยทุกท่านที่เคยศึกษาวรรณคดีไทยกันมาแล้วอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้เพียงแต่ว่า เมื่อจะนำมาสอนผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะเหล่านี้ขึ้นมาบ้าง อาจจะยังมองไม่เห็นแนวทาง หรือ อาจจะยังหลงทางไปบ้าง แต่ก็คงยังไม่สายเกินไปกับการที่จะหันกลับมา และลองใช้กลวิธีการสอนที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้เพื่อให้วรรณคดีไทยของเรา “จงคงคู่กัลปา ยืนโยค หายแผ่นดินฟ้าไหม้ อย่าหาย”
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน . (2542) . พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .
ศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ , สมาคม . (2537) . เอกสารประกอบการอบรม เรื่องการสอน วรรณคดีไทยให้สนุก. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น