ยัยตาเล็กกับเพื่อนเที่ยวกัมพูชา

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

การอ่านอย่างมีมิติ

๒. การอ่านอย่างมีมิติ

ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ


                ภาษามิได้มีเพียงความหมายของถ้อยคำเท่านั้น เมื่อภาษาถูกส่งออกจากผู้ส่งสาร มันจึงมิได้มีเพียงเรื่องราวที่เป็นความหมายของถ้อยคำ แต่ในเรื่องราวและความหมายที่ส่งออกมานั้นจะประกอบไปด้วยความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติ เจตนา ท่าทีของความคิดความรู้สึกหรือน้ำเสียง ความหมายตรง ความหมายแฝง วัฒนธรรม พื้นภูมิประสบการณ์ ภูมิปัญญา ปรัชญา อุดมการณ์ มโนคติ อุดมคติ ท่วงทำนอง วิถี ลีลา รูปแบบ บุคลิกภาพ อัตลักษณ์ เบื้องหน้าเบื้องหลัง บริบทชีวิต สังคม การศึกษา ความจริงใจ เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิง ความดี ความงาม ความชั่วร้าย ความกล้า ความเชื่อมั่น ความหวั่นไหว ความหวาดระแวง ความคาดหวัง ฯลฯ
              ไม่ว่าภาษาที่ส่งออกมานั้นจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง หรือภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ตาม ก็อาจมี อะไร” ที่นอกเหนือจากความหมายตามถ้อยคำและเรื่องราวตามตัวหนังสือหรือสื่อแสดงภาษานั้นๆ ยิ่งมีอะไรที่แฝงมาในสารนั้นมากเท่าไร ผู้รับสารก็จำเป็นที่จะต้อง อ่าน” อะไรๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วน จึงจะถือว่าเป็นผู้รับสารที่มีคุณภาพ ยังประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจ การนำไปใช้ หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับรู้นั้นอย่างมีคุณค่า
              เราเรียกการอ่านที่สามารถ เข้าถึงสารอย่างถ่องแท้ทุกแง่ทุกมุมหรือทุกนัยแห่งสาร” นั้นว่า การอ่านอย่างมีมิติ การอ่านเช่นนี้ จะส่งเสริมสติปัญญา ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และวุฒิภาวะในการอ่านโลก อ่านชีวิต และอ่านสิ่งต่างๆ ให้งอกงามพัฒนา ส่งผลให้บุคคลผู้มีวิถีการอ่านเช่นที่ว่านี้เป็นผู้แตกฉานต่อชีวิต มีศักยภาพทางความคิด สติปัญญา ความสามารถสร้างสรรค์ การทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพยิ่ง และบุคคลผู้สมควรที่จะต้องเป็น นักอ่าน” ซึ่งมีวิถีการอ่านอย่างมีมิติที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาก็คือ ครู”นั่นเอง
              การอ่านไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาภาษาไทย หรือวิชาภาษาใดๆ แต่มันเป็น “เครื่องมือแห่งชีวิต” ที่ครูทุกคนจะต้องเป็นนักอ่าน การอ่านมากและอ่านอย่างลุ่มลึกแหลมคม อย่างทะลุทะลวงมิติต่างๆ ของสาร เข้าถึงสารอย่างสมบูรณ์ถ่องแท้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำให้ครูได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ วิถีทางใหม่ๆ ความสนุกในรสแห่งการอ่าน ความบันเทิงทางจิตวิญญาณและปัญญา ทำให้สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ในการสอนและการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของตน ข้อสำคัญมันจะทำให้ครูทุกคนได้พบความภาคภูมิใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และจะได้อะไรดีๆ ในชีวิตของการเป็นครูอีกมาก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นดอกผลแสนงามที่ตกทอดแก่เด็กๆ และเยาวชนของชาติอย่างมิต้องสงสัย
                   งานเขียนที่มักมีมิติซับซ้อน มีอรรถรสชวนอ่าน มีแก่นสารทางปัญญาและมโนคติ โดยทั่วไปจะพบได้ในกลุ่มงานเขียนประเภท “บันเทิงคดีสร้างสรรค์” ได้แก่ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย หรือที่มักเรียกรวมๆ ว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์และปรัชญานิพนธ์ต่างๆ การอ่านงานประเภทเหล่านี้จะช่วยให้มีความสนุกบันเทิงในการอ่าน ซึ่งอาจเป็นการสนุกคิด สนุกติดตาม สนุกกับความตื่นเต้น หรือสนุกกับท่วงทำนองต่างๆ ในมิติของงานเขียนที่สร้างสรรค์ แต่การที่ครูจำนวนไม่น้อยยังมิใคร่จะให้ความสำคัญกับการอ่านงานเขียนประเภทนี้ ก็เพราะมักจะคิดว่าไม่มีความสำคัญ ไม่ได้ให้คำตอบกับโจทย์ชีวิตหรือหน้าที่การงานที่ต้องการโดยตรง หารู้ไม่ว่าการคิดเช่นนั้น แท้แล้วเป็นการคิดที่ผิวเผินนัก!
การมุ่งอ่านเพื่อรู้เรื่องราวที่อยากรู้โดยตรงเช่นการอ่านตำราจะได้อย่างมากก็แค่รู้เรื่องนั้นๆ เท่านั้น สมองจะสั่งสมแต่ ‘ตัวรู้’…ที่รู้ตาม ตามที่คนอื่น ‘บอกความรู้’ ให้ แต่การอ่านงานเขียนที่มิได้บอกความรู้โดยตรง จะเป็นการกระตุ้นความงอกงามทางปัญญา กระบวนการคิด มโนคติ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ ฯลฯ ทำให้บุคคล ‘พัฒนาสมองแบบเชื่อมโยง’ ด้วยตัวของตัวเอง และก็จะสนับสนุน ‘ตัวรู้’ ที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นองค์รวม
อยากให้ลองพิจารณาทบทวนว่า การเรียนการสอนที่ครูโดยทั่วไปปฏิบัติกันอยู่นั้นได้ก้าวพ้นวิธีการแบบ บอกความรู้ แล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็แสดงว่าครูยังมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๒๔ ยังมิได้ก้าวไปสู่ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา ยังพายเรืออยู่ในอ่างที่ไม่สามารถหาทางออก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะครูเอง (ส่วนใหญ่) ล้วนผ่านการสั่งสมการเรียนรู้แบบรับความรู้จากครูผู้บอกความรู้ เช่นเดียวกันมาเป็นเวลานานแสนนาน ทั้งระบบ ทั้งสังคมการศึกษาของเรา วันนี้เราสามารถพัฒนาความรู้ไปได้ไกลชนิดไม่น้อยหน้าใครในโลกแล้ว แต่การพัฒนาความคิด กระบวนการคิด ความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเท่าทัน และการคิดอย่างมีมิติของเรากลับถดถอย ขาดหาย และพัฒนาไปได้น้อย…อย่างน่าตกใจ จนกระทั่งต้องบัญญัติกฎหมายบังคับ (มาตรา ๒๔) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเราสั่งสมเหตุแห่งการจัดการศึกษาแบบให้น้ำหนักแก่ ตัวรู้”มากกว่า ตัวคิด” นั่นเอง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใช้กระบวนการอ่านอย่างขบคิดแทรกซึมเข้าไปในทุกสาขาวิชา ทุกตัวครูและผู้บริหาร ซึ่งเครื่องมือสำคัญของการอ่านที่ว่านี้ก็คือ การอ่านอย่างมีมิติ นั่นเอง
                   เพราะชีวิตมนุษย์มีมิติที่ซับซ้อน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การมีอิริยาบถเคลื่อนไหว บริโภค คิด พูด ทำ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเพียงส่วนที่มองเห็นเหมือนภาพแบนๆ เท่านั้น ยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้น ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงอีกมากมาย เช่นนี้แล้วเราจะยังมัวอ่านชีวิตและใช้ชีวิตเพียงภาพแบนๆ กันอีกหรือ
การสอนให้รู้จักคิด มิใช่การบอกทฤษฎีความคิด หรือมิใช่แนะให้คิดอย่างนี้อย่างนั้น เปล่าเลย “การรู้จักคิด” นั้นบอกกันไม่ได้ แต่กระตุ้นเร้าได้ และปฏิบัติการแบบสั่งสมทักษะได้ ถ้าครูมีทักษะประสบการณ์การอ่านอย่างมีมิติที่เพียงพอ
                      การเรียนการสอนทุกวิชาจะต้องให้บูรณาการกับ ความรักการอ่าน” สุกกับการขบคิด คิดอย่างเอาชีวิตเป็นศูนย์กลาง หรือเอาชีวิตคนเป็นหลัก มิใช่เอาวิชาเป็นหลัก หรือวิชาใครวิชามันอย่างที่ทำๆ กันอยู่ เราจะต้องเอาทักษะการจำเป็นเครื่องสนับสนุนการคิด มิใช่เอาการจำนำหน้าการคิดอย่างเช่นทุกวันนี้ ข้อสอบที่วัดความจำก็จะต้องพลิกแพลงให้เป็นข้อสอบวัดศักยภาพการคิด ข้อสอบที่วัดความรู้ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นข้อสอบที่วัดศักยภาพการใช้ความรู้ ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้และทำได้แท้จริงก็ต่อเมื่อการอ่านหนังสือแตกฉาน มีมิติ การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา มีชีวิตที่เป็นจริงอยู่ในภาวะมิติแห่งความเป็นมนุษย์
               ที่สุดของที่สุดก็คือ ครูจะต้องรักการอ่าน ถ้าครูไม่รักการอ่านทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ กบแห่งการศึกษาที่เราคาดหวัง คงมิสามารถกระโดดจากบ่อน้ำเก่าๆ ในถ้ำมืดออกไปสู่โลกกว้างแห่งจินตนาการอันเปี่ยมด้วยพลังทางปัญญาที่เจิดจ้าประภัสสรได้!
               แต่อย่างไรก็ตาม ก็มิได้คิดว่าครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอันงดงามจะเป็นเช่นนั้น บทความนี้จึงเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกที่มีความหวัง… ขอให้เรามาร่วมกันสร้างมิติแห่งคุณค่าให้เกิดขึ้นในความหวังนั้นเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น