ยัยตาเล็กกับเพื่อนเที่ยวกัมพูชา

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

วรรณยุกต์และการผันวรรณยุกต์

วรรณยุกต์และการผันวรรณยุกต์

ประโยชน์ของวรรณยุกต์คือช่วยทำให้คำมีความหมายมากขึ้น แตกต่างจากภาษาของชาติอื่น ๆ เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า (เสียงนี้มี 4 ความหมาย) กล่าวคือ
ปา หมายถึง ขว้างปา
ป่า หมายถึง ที่มีต้นไม้ภูเขา และสัตว์
ป้า หมายถึง พี่ของพ่อหรือแม่
ป๊า หมายถึง พ่อในภาษาบางภาษา
ป๋า หมายถึง พ่อในภาษาบางภาษา
        ต่างจากภาษาอังกฤษ ไม่ว่านักเรียนจะออกเสียง dog สูงต่ำอย่างไร ความหมายคงเดิม

 วรรณยุกต์มี 4 รูป 5 เสียง

วรรณยุกต์มีรูป ดังนี้
ภาพ:ไม้เอก.JPGภาพ:ไม้ตรี.JPGภาพ:ไม้จัตวา.JPGภาพ:โท.JPG






เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี 5 เสียง
  1. เสียงสามัญ คือเสียงกลาง ๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน
  2. เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด
  3. เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง
  4. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด
  5. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว

 การผันวรรณยุกต์

        ผันวรรณยุกต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.วรรณยุกต์มีรูป หมายถึงวรรณยุกต์ที่มีเครื่องหมายบอกระดับของเสียงให้เห็นชัดเจนอยู่เบื้องบนอักษร มีอยู่ 4 รูปคือ

วรรณยุกต์ เอก
วรรณยุกต์ โท
วรรณยุกต์ ตรี
วรรณยุกต์ จัตวา

โดยลำดับ และให้เขียนไว้เบื้องบนอักษรตอนสุดท้าย เช่น
        ก่ ก้ ก๊ ก๋ ปั่น ปั้น ลื่น เลี่ยน เป็นต้น ถ้าเป็นอักษรควบหรืออักษรนำให้เขียนไว้เบื้องบนอักษรตัวที่ 2 เช่น
        ครุ่น คลื่น เกลื่อน เกล้า ใกล้ เสน่ห์ หมั่น โกร๋น ฯลฯ
        รูปวรรณยุกต์นี้เริ่มใช้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่มีใช้อยู่เพียง 2 รูปเท่านั้นคือ ไม้เอก กับไม้โท แต่ไม้โทในสมัยนั้นเขียนเป็นรูป กากบาท ( + ) เหมือนไม้จัตวาในปัจจุบัน
        ต่อมาในปลายสมัยกรุงสุโขทัยจึงได้เปลี่ยนรูปกากบาทมาเป็นรูปไม้โทเช่นปัจจุบัน ส่วนไม้ตรีกับไม้จัตวายังไม่มีใช้ น่าจะเพิ่มมีใช้เมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงจะได้คิดสำหรับใช้เขียนคำที่มาจากภาษาจีนเป็นมูลเหตุ ดังปรากฎคำเขียนอยู่ในกฎหมายศักดินาพลเรือนซึ่งมีคำเขียนเป็นภาษาจีนที่ใช้ไม้ตรีและจัตวากำกับอยู่หลายชื่อเช่น จุ้นจู๊ - นายสำเภา , บั๋นจู๊ - พนักงานซ่อมแปลงสำเภา เป็นต้น
        ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือก่อนนั้นขึ้นไปก็ยังไม่มีวรรณยุกต์ตรี หรือวรรณยุกต์จัตวาใช้ ข้อนี้มีหลักฐานยืนยันอยู่ในหนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราสอนหนังสือไทยที่พระโหราแต่งขึ้นในสมัยนั้น

มีโคลงบอกวรรณยุกต์ไว้บทหนึ่งว่า
สมุหเสมียนเรียนรอบรู้ วิสัญช์
พินเอกพินโททัณ ฑฆาตคู้
ฝนทองอีกฟองมัน นฤคหิต นั้นนา
แปดสิ่งนี้ใครรู้ จึงให้เป็นเสมียน

        ข้อความในโคลงบทนี้แสดงให้เห็นว่า แม้สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีรูปวรรณยุกต์ตรี และ วรรณยุกต์จัตวาใช้ ถ้ามีใช้คงจะได้ปรากฎอยู่ในโคลงบทนี้ เพราะเป็นตำราเรียนอยู่ในสมัยนั้น
2.วรรณยุกต์ไม่มีรูป ได้แก่เสียงที่มีทำนองสูงต่ำตามหมวดหมู่ของตัวอักษร โดยไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์กำกับก็อ่านออกเสียงได้เหมือนมีรูปวรรณยุกต์กำกับอยู่ด้วยเช่น นา หนะ นาก นะ หนา ฯลฯ
        วรรณยุกต์ไม่มีรูปต่างกับวรรณยุกต์ที่มีรูปคือ วรรณยุกต์ที่มีรูปจะต้องมีเครื่องหมายบอกเสียงกำกับอยู่บนตัวอักษร และมีเพียง 4 เสียงเท่านั้นคือ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี เสียงจัตวา ตามรูปวรรณยุกต์แต่ไม่มีเสียงสามัญ ส่วนวรรณยุกต์ไม่มีรูปจะมีครบทั้ง 5 เสียงเต็มตามจำนวนเสียงที่กำหนดใช้อยู่ในภาษาไทย โดยไม่มีเครื่องหมายบอกเสียงกำกับ แต่อาศัยการออกเสียงตามหมู่ของอักษรทั้ง 3

 เสียงของการผันวรรณยุกต์ เราแบ่งได้ดังนี้

  • พื้นเสียง คือ คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์แต่มีเสียงวรรณยุกต์
  • คำเป็น คือ คำที่ประสมกับสระเสียงยาว หรือเสียงสั้นที่มีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย และ เกอว เช่น มา กิน ข้าว ฯลฯ
  • คำตาย คือ คำที่ประสมกับสระเสียงสั้น หรอเสียงยาวที่มีตัวสะกดในแม่ กก กด กบ เช่น เด็ก นะ จาก ฯลฯ
  • คำตาย ผันได้ 3 คำ ใช้วรรณยุกต์ เอก โท จัตวา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
1.คำตายสระสั้น พื้นเสียงเป็นตรี เช่น คะ คก คด คบ ผันด้วยวรรณยุกต์เอก เป็นเสียงโท เช่น ค่ะ ค่ก ค่ด ค่บ ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวาเป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋ะ ค๋ก ค๋ด ค๋บ
2.คำตายสระยาว พื้นเสียงเป็นโท เช่น คาก คาด คาบ ผันด้วยวรรณยุกต์โท เป็นเสียงตรี เช่น ค้าก ค้าด ค้าบ ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา เป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋าก ค๋าด ค๋าบ

วิธีผันอักษร 3 หมู่ ที่เรียกว่า ไตรยางศ์

        วิธีผันอักษร 3 หมู่ ที่เรียกว่า ไตรยางศ์ นั้น ใช้ผันรูปวรรณยุกต์ต่าง ๆ กันดังนี้ อักษรสูง ผันด้วยวรรณยุกต์ เอก และ โท คำเป็นผันได้ 3 คำ คำตายผันได้ 2 คำ พยัญชนะเสียงสูง
ภาพ:การผัน.JPG
คำเป็น พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา         เช่น ขา ขง ขน ขม เขย ขาว ผันด้วยวรรณยุกต์เอก เป็นเสียงเอก        เช่น ข่า ข่ง ข่น ข่ม เข่ย ข่าว ผันด้วยวรรณยุกต์โท        เป็นเสียงโท         เช่น ข้า ข้ง ข้น ข้ม เข้ย ข้าว
คำตาย พื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น ขะ ขก ขด ขบ ขาก ขาด ขาบ ผันด้วยวรรณยุกต์โท        เป็นเสียงโท เช่น ข้ะ ข้ก ข้ด ข้บ ข้าก ข้าด ข้าบ อักษรกลาง ผันด้วยวรรณยุกต์ เอก วรรณยุกต์ โท วรรณยุกต์ ตรี วรรณยุกต์จัตวา พยัญชนะเสียงกลาง :
ภาพ:กลาง1.JPG
คำเป็น ผันได้ 5 คำ คำตายผันได้ 4 คำ คำเป็น         พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น กา กง กน กม เกย กาว
ผันด้วยวรรณยุกต์เอก        เป็นเสียงเอก เช่น ก่า ก่ง ก่น ก่ม เก่ย ก่าว
ผันด้วยวรรณยุกต์โท        เป็นเสียงโท เช่น ก้า ก้ง ก้น ก้ม เก้ย ก้าว
ผันด้วยวรรณยุกต์ตรี        เป็นเสียงตรี เช่น ก๊า ก๊ง ก๊น ก๊ม เก๊ย ก๊าว
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา        เป็นเสียงจัตวา เช่น ก๋า ก๋ง ก๋น ก๋ม เก๋ย ก๋าว
คำตาย         พื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น กะ กก กด กบ กาก กาด กาบ
ผันด้วยวรรณยุกต์โท        เป็นเสียงโท เช่น ก้ะ ก้ก ก้ด ก้บ ก้าก ก้าด ก้าบ
ผันด้วยวรรณยุกต์ตรี        เป็นเสียงตรี เช่น ก๊ะ ก๊ก ก๊ด ก๊บ ก๊าก ก๊าด ก๊าบ
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา        เป็นเสียงจัตวา เช่น ก๋ะ ก๋ก ก๋ด ก๋บ ก๋าก ก๋าด ก๋าบ

        อักษรต่ำ ผันด้วยวรรณยุกต์ เอก วรรณยุกต์ โท คำเป็นผันได้ 3 คำ พยัญชนะเสียงต่ำ
ภาพ:ต่ำ1.JPG
คำเป็น         พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ เช่น คา คง คน คม เคย คาว
ผันด้วยวรรณยุกต์เอก        เป็นเสียงโท เช่น ค่า ค่ง ค่น ค่ม เค่ย ค่าว
ผันด้วยวรรณยุกต์โท        เป็นเสียงตรี เช่น ค้า ค้ง ค้น ค้ม เค้ย ค้าว
คำตาย สระสั้น        พื้นเสียงเป็นตรี เช่น คะ คก คด คบ
ผันด้วยวรรณยุกต์เอก        เป็นเสียงโท เช่น ค่ะ ค่ก ค่ด ค่บ
ผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา        เป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋ะ ค๋ก ค๋ด ค๋บ
คำตาย สระยาว        พื้นเสียงเป็นโท เช่น คาก คาด คาบ
ผันด้วยวรรณยุกต์โท        เป็นเสียงตรี เช่น ค้าก ค้าด ค้าบผันด้วยวรรณยุกต์จัตวา เป็นเสียงจัตวา เช่น ค๋าก ค๋าด ค๋าบ

        จะเห็นได้ว่า อักษรสูงกับอักษรกลางมีเสียงตรงกับรูปวรรณยุกต์เสมอ แต่อักษรต่ำจะมีเสียงสูงกว่ารูปวรรณยุกต์หนึ่งขั้น เว้นไว้แต่วรรณยุกต์จัตวา ซึ่งเสียงคงเป็นจัตวาตามรูปวรรณยุกต์เพราะไม่มีเสียงใดที่จะสูงไปกว่านั้นอีก เพราะเหตุที่อักษรต่ำมีเสียงไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ จึงมักทำให้เกิดความฉงนในเวลาต้องการจะทราบเสียงวรรณยุกต์ที่แท้จริง แต่ถ้าเข้าใจวิธีผันอักษรกลางเป็นอย่างดีแล้วก็สามารถเทียบเสียงได้โดยอาศัยอักษรกลางเป็นหลัก
ภาพ:ไตรยางค์.JPG

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น